หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

การรับประทานชา และ กาแฟ อาจลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ และโรคหลอดเลือดหัวใจได้



หลายคนเคยได้ยินมาว่า การรับประทานชา และ/หรือ กาแฟ เป็นผลเสียต่อสุขภาพ แต่ทราบหรือไม่ว่า การรับประทานชาและกาแฟเป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ และ โรคหลอดเลือดหัวใจได้
pic from http://drsethrosen.blogspot.com


โรคหลอดเลือดหัวใจ


เริ่มจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องดื่ม กับอัตราการตายเนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจของโยเฮอิ มิเนะฮารุ และคณะ ที่ได้ถูกนำสู่สาธารณะในปี 2009 โดยมีการศึกษาแบบติดตามไปข้างหน้าในประชากรญี่ปุ่น จำนวน 76,979 ที่มีช่วงอายุ 40-79 ปี ซึ่งไม่มีประวัติการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ไม่ดื่มชาและกาแฟ กับกลุ่มที่ดื่มชาและกาแฟพบว่า กลุ่มที่ดื่มชาและกาแฟมีอัตราเสี่ยงการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ดื่ม (Mineharu et al., 2011)

โรคหลอดเลือดสมองตีบ


ต่อมาโยชิฮิโร่ โคคูโบะ และคณะ ได้ทำการศึกษาในประชากรชาวญี่ปุ่นจำนวน 82,369 คน ที่มีช่วงอายุ 45-74 ปี ซึ่งไม่มีประวัติการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด และมะเร็งในช่วงปีค.ศ. 1995-1998 และติดตามผลเป็นเวลา 13 ปี (ค.ศ. 2007) พบว่าผู้ที่รับประทานชา และ กาแฟมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ และโรคหัวใจหลอดเลือดลดลง(Kokubo et al., 2013)

  • ผู้ที่ดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละ 1 แก้วจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคน้อยกว่าผู้ที่แทบจะไม่ได้ดื่มประมาณ 20%
  • ผู้ที่ดื่มชาเขียว 2-3 แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ทาน 14% และ ถ้าดื่ม อย่างน้อย 4 แก้วต่อวันจะมีความเสี่ยงลดลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับผู้ที่แทบจะไม่ได้ดื่ม
  • ผู้ที่ดื่มกาแฟอย่างน้อย 1 แก้ว หรือ ดื่มชาเขียว 2 แก้วต่อวันจะมีความเสี่ยงของเลือดออกในสมอง(intracerebral hemorrhage) ลดลงประมาณ 32% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่แทบจะไม่ได้ดื่ม

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการดื่มชา หรือ กาแฟช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ และโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างไร ทั้งนี้อาจเนื่องจากในชาเขียวมีสารประกอบฟินอลิกจำพวกคาทิชิน ส่วนในกาแฟมีกรดคลอโรจีนิก(chlorogenic acid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ และต้านอักเสบ

สำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง


มีการศึกษาพบว่าสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเมื่อได้รับคาเฟอีนปริมาณ 200-300 มก. (เทียบเท่าประมาณ กาแฟ 1-2 แก้ว) จะมีความดันเลือดบนเพิ่มขึ้น 8.1 มม. ปรอท ส่วนความดันล่างเพิ่มขึ้น 5.7 มม. ปรอท ซึ่งจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกที่รับประทานและยาวนานต่อเนื่องไปถึง 3 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น แต่ในการศึกษาการรับประทานกาแฟในระยะยาวยังไม่สามารถยืนยันความสัมพันธ์ที่แน่ชัดระหว่างการดื่มกาแฟเป็นระยะเวลานานกับการเพิ่มความดันเลือด หรือ การเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง(Mesas et al., 2011)
pic from http://www.timetocleanse.com



แต่อย่างไรก็ดีคาเฟอีนในชาและกาแฟมีผลในการเพิ่มความดันเลือด ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูงควรระมัดระวังในการรับประทาน








ที่มาของข้อมูล


Mineharu, Y., Koizumi, A., Wada, Y., Iso, H., Watanabe, Y., Date, C., ... & Tamakoshi, A. (2011). Coffee, green tea, black tea and oolong tea consumption and risk of mortality from cardiovascular disease in Japanese men and women.Journal of epidemiology and community health, 65(3), 230-240.

Kokubo, Y., Iso, H., Saito, I., Yamagishi, K., Yatsuya, H., Ishihara, J., ... & Tsugane, S. (2013). The Impact of Green Tea and Coffee Consumption on the Reduced Risk of Stroke Incidence in Japanese Population The Japan Public Health Center-Based Study Cohort. Stroke, 44(5), 1369-1374.

American Heart Association. (2013). Green tea, coffee may help lower stroke risk. (Online) Available: http://newsroom.heart.org/news/green-tea-coffee-may-help-lower-stroke-risk [Cite September 16,2013]

Mesas, A. E., Leon-Muñoz, L. M., Rodriguez-Artalejo, F., & Lopez-Garcia, E. (2011). The effect of coffee on blood pressure and cardiovascular disease in hypertensive individuals: a systematic review and meta-analysis. The American journal of clinical nutrition, 94(4), 1113-1126.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น